จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่าทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ถึงปีละ 250,000 – 500,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีประมาณ 50,000 คน ในปีที่มีการระบาดมากจะพบได้ถึง 70,000 คน
ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดปกติ ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่จะมีความเสี่ยงต่ออาการโรคประจำตัวกำเริบและภาวะแทรกซ้อน ซึ่งรวมถึงภาวะปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด และระบบประสาทจนถึงขั้นเสียขีวิตได้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)
วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ (เชื้อไวรัสชนิดสายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และสายพันธุ์ B 1 สายพันธ์) และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ (เชื้อไวรัสชนิดสายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และสายพันธุ์ B 2 สายพันธุ์) ซึ่งส่วนใหญ่ทางโรงพยาบาลจะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A และ B สามารถแยกย่อยตัวไวรัสออกมาได้อีก คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A H1N1, A H3N2, B Victoria และ B Yamagata ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์จะสามารถป้องกันเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ครอบคลุมกว่า
เชื้อไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ผ่านมา พบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซาสายพันธุ์ A ที่เราคุ้นเคยในชื่อ A/H1N1 และ A/H3N2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลัก ต่อมาพบว่า มีการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ B เพิ่มมากขึ้น รวมถึงในประเทศไทยก็พบการระบาดของสายพันธุ์ B สูงขึ้นถึง 13-55% เช่นกัน นอกจากนี้ความรุนแรงของสายพันธุ์ B ทั้ง 2 ตระกูลที่พบการระบาดร่วมกันได้แก่ Victoria และ Yamagata ยังส่งผลกระทบถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้พอๆ กับสายพันธุ์ A อีกด้วย
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ และควรได้รับการป้องกันด้วยวัคซีน
-เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี
-ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
-หญิงตั้งครรภ์ และ ผู้หญิงที่อยู่ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด
-ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน หัวใจ ปอด ความผิดของตับไต
ใครไม่ควรฉีดวัคซีนหรือควรเลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่
-เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
-คนที่มีประวัติแพ้ไก่หรือไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะ วัคซีนผลิตในไข่ไก่
-ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
-หากมีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือโรคประจำตัว มีอาการกำเริบ ควบคุมไม่ได้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
-กรณีเป็นหวัดเล็กน้อย ไม่มีไข้ สามารถรับการฉีดวัคซีนได้
การติดต่อ
โรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ทางการหายใจ ไอ จาม
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
หลังจากได้รับเชื้อ จะมีระยะฟักตัว 1-4 วัน จากนั้นจะเกิดอาการของระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง มักมีอาการสำคัญที่เด่นชัด เช่น มีไข้สูง / ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก / มีน้ำมูก และไอ
ผลกระทบต่อร่างกายเมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
เซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลาย สามารถติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ อาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบหรือปอดบวม
หลอดเลือดอักเสบมากขึ้น เพิ่มโอกาสไขมันในเส้นเลือดแตกไปอุดตันเส้นเลือด จึงเพิ่มความเสี่ยงการกำเริบของหัวใจและหลอดเลือด เกิดการอักเสบของหลอดลม ทำให้โรคปอด โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพองกำเริบจนมีอาการรุนแรงมากขึ้น
เกิดความผิดปกติของระบบเผาผลาญ คนเป็นโรคเบาหวานจะมีน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทำให้อาการของเบาหวานรุนแรงขึ้น
ภาวะไข้สูง ร่างกายเกิดการเสียน้ำ ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ
ทำไมต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี ?
แนะนำให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ก่อนฤดูที่มีการระบาด (ฤดูฝน และ ฤดูหนาว) และฉีดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่จะลดต่ำลงได้ในระยะเวลาไม่นาน การฉีดวัคซีนทุกปีจึงเป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในแต่ละปี
วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์แนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือน จนถึงผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตรก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้เช่นกัน